วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552

ปรับทัศนะคติของคนในองค์กรก่อนกำหนดงาน KM


ผู้เขียนก็เป็นเจ้าหน้าที่ในสำนักงานฯ ผู้เขียนเองก็ต้องได้ยิน ได้ฟัง ได้รับรู้ถึงปฏิกิริยาความรู้สึกของเจ้าหน้าที่หลายคนในสำนักงานฯ ภายหลังจากที่ทราบว่า "จะมีการจัดการความรู้ในสำนักงาน" ผ่านแผนการต่างๆ เช่น จะทำด้วยวิธีใด? ไม่มีเวลา? หรือ "จะหาเวลาในการดำเนินกิจกรรมการจัดการความรู้ได้อย่างไร?" ผู้เขียนก็ได้แต่คิดในใจว่า "ทำไมการชงกาแฟดื่มในขณะทำงานจึงไม่เป็นการเสียเวลา"

บทความที่ผ่านๆมาของผู้เขียน ได้ใช้พื้นที่และเวลาทั้งหมดในการนำเสนอแนวคิด (ในมุมมองของผู้เขียน) ในการกำหนดทิศทางการจัดการรความรู้ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะกล่าวถึงสภาพข้อเท็จจริงของสำนักงานฯ ปัจจัยที่จะเอื้อความการบรรลุเป้าหมายของการจัดการความรู้ของสำนักงาน

ในช่วงสองถึงสามวันที่ผ่านมา สำนักงานฯ ได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องของการจัดการความรู้ของสำนักงานฯ โดยเป็นการสัมมนากลุ่มเล็ก (ประมาณสี่สิบคน) โดยผู้เข้าร่วมสัมมนามาจากสำนัก ศูนย์ และฝ่ายกฎหมายต่างๆ ของสำนักงานฯ ผู้เขียนได้ถือโอกาสนี้ในการนำเสนอแนวคิดทั้งหมดที่ผู้เขียนที่ได้นำเสนอผ่านบทความในบล๊อกนี้ต่อที่ประชุมสัมมนา

สาระสำคัญในสิ่งที่ผู้เขียนได้สื่อสารกับผู้เข้าร่วมสัมมนา คือ ปัญหาสำคัญที่จะได้พูดอภิปรายกันในครั้งนี้มิได้เป็นอภิปรายหรือนำเสนอรูปแบบของการจัดการความรู้ตามเนื้อหาในทางวิชาการทั่วไปอย่างที่เป็นมา แต่การสัมมนาครั้งนี้ผู้เขียน (ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานผู้จัดการสัมมนา) มุ่งเน้นที่จะเชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมกันถกถึง "ปัญหา" ของผู้เข้าร่วมสัมมนาเอง

การจัดการความรู้นั้นเป็นเรื่องกระบวนการในการเพิ่มประสิทธิภาพของทรัพยากรบุคคล ในการทำงานตามภาระหน้าที่ของสำนักงานฯ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงาน (งานร่างกฎหมายและการให้ความเห็นทางกฎหมาย) จะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในระดับที่ดีจึงจะสามารถรับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ได้ดี (ซึ่งความสำคัญของงานคงเป็นที่รู้กันโดยไม่ต้องกล่าวถึง)ผู้เข้าร่วมสัมมนาก็เป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ จึงมีหน้าที่ในการรับผิดชอบในภารกิจของสำนักงานฯ ไมทางใดก็ทางหนึ่ง "ปัญหา" ของผู้เข้าร่วมสัมมนาที่ผู้เขียนกล่าวถึง จึงหมายถึงการหาหนทางในการพัฒนาความรู้ความสามารถของตัวเจ้าหน้าที่คนนั้นๆ เอง เพื่อให้พร้อมต่อการปฏิบัติงานหรือหน้าที่



"ปัญหา" ของผู้เข้าร่วมสัมมนาคือ จะมีวิธีการเรียนรู้ "ความรู้" ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างไร? ให้ได้ความรู้ความมากที่สุด ใช้เวลาน้อยที่สุด ด้วยลักษณะธรรมชาติในเรื่องความไม่เท่ากันของบุคคลโดยเฉพาะในเรื่องศักยภาพการเรียนรู้ของบุคคลที่ไม่เท่ากัน ทำให้เราได้เห็นความไม่เทียมกันในเรื่องของความรู้ความสามารถของบุคคล นอกจากนี้ การพบกับประสบการณ์ของแต่ละคนก็ยังมีความแตกต่างกันออกไป เป็นผลให้การสั่งสมความรู้ของแต่ละคนมันต่างกันออกไปด้วย แต่ข้อจำกัดดังกล่าวก็ไม่ใช่ข้อแก้ตัวในการทำงานของแต่ละคน ซึ่งคาดได้ยากว่าจะต้องใช้ความรู้ความสามารถโดยเฉพาะในเรื่องใดบ้าง เจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องมีความพร้อมเสมอในการทำงาน

ผู้เขียนก็นำเสนอเพิ่มเติมว่า กระบวนงานของการจัดการความรู้นี้ก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการแก้ไข "ปัญหา" ของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว แต่ก่อนที่จะกำหนดโครงการหรือแผนการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำต้องทราบถึง "ปัญหา" ที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ เสียก่อน

เมื่อได้เริ่มรับฟังปัญหาของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย เกี่ยวกับปัญหาในการเรียนรู้การทำงานแล้ว ผู้เขียนค่อนข้างที่จะแปลกใจว่า "ปัญหา" ของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมิได้เป็นไปอย่างที่คาดไว้ ผู้เขียนเคยคาดไว้ว่าปัญหาของเจ้าหน้าที่น่าจะเป็นปัญหาในเรื่องของการต้องการข้อมูลที่รวบรวม จัดเก็บ หรือจัดทำขึ้นใหม่ หรือต้องการความรู้ใหม่ๆ แต่ปัญหาของเจ้าหน้าที่ที่ได้มีการสะท้อนออกมากลับเป็นเรื่องของ "เวลา" ที่สูญเสียไปในการค้นหาข้อมูลในการทำงาน (ร่างกฎหมายหรือข้อหารือ) เนื่องจากในการทำงานร่างกฎหมายหรือการตอบข้อหารือนั้น จะต้องมีการค้นคว้าข้อมูลเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหากฎหมาย คำวินิจฉัยขององค์กรต่าง ๆ (เช่น ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุด เป็นต้น) หรือเอกสารที่กำหนดแนวทางในการทำงานของเจ้าหน้าที่ เช่น รายงานการประชุมฝ่ายร่างกฎหมายของสำนักงานฯ เอง มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง หรือเอกสารอื่นๆ ซึ่งเวลาส่วนในในการทำงานหมดไปกับการค้นคว้าดังกล่าว ผู้เข้าร่วมสัมมนาก็ได้เสนอถึงวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในอันที่จะย่นเวลา หรือปรับปรุงการค้นคว้าให้ใช้เวลาน้อยลงและมีความถูกต้องครบถ้วนมากยิ่งขึ้น

ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เริ่มที่จะเปลี่ยนทัศนะคติที่มีต่อคำว่า "การจัดการความรู้" จากที่เห็นว่า การจัดการความรู้เป็น "โครงการ" "ภาระงาน" หรือ "กิจกรรม" อย่างใดที่สำนักงานฯจะต้องจัดให้มีขี้นและเจ้าหน้าที่จะต้องมีส่วนร่วมอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกเหนือไปจากภาระงานตามปกติของเจ้าหน้าที่ เปลี่ยนไปเป็นความเข้าใจถึงความจำเป็นและความสำคัญในอันที่จะปรับปรุงความสามารถในการเรียนรู้ของตนเอง โดยเฉพาะในการเพิ่มพูน "ความรู้ความชำนาญ" อันเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ผู้เขียนมีความเห็นว่า สัญญาณที่ดีของการเกิดสภาพของ "การจัดการความรู้แบบยั่งยืน" ที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปในบทความก่อน ได้เริ่มมีขึ้นแล้วในสำนักงานฯ การจัดความรู้แบบยั่งยืน เป็นสภาพการเรียนรู้แบบก้าวหน้าของคนในองค์กรที่ดำเนินอยู่โดยที่คนในองค์กรไม่รู้สึกว่าการจัดการความรู้เป็นส่วนเกินในกระบวนการทำงานของตน

ทัศนะคติของคนในองค์กรที่ถูกต้องจะเป็นสิ่งที่เอื่อต่อความสำเร็จของการจัดการความรู้ (ที่แท้จริง) ผู้เขียนเห็นว่า "การทำความเข้าใจ" ในสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่เป็นสิ่งจำเป็นอันดับต้นๆ ที่องค์กรใดก็ตามที่ต้องการให้การจัดการความรู้ให้เกิดผลอย่างแท้จริงจะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ท้ายสุดผู้เขียนขอนำเอาสไลด์ที่ผู้เขียนเห็นว่าจะเป็นการจุดประกายการริเริ่มในสิ่งใหม่ซึ่ง (ผู้เขียนเชื่อว่า) เป็นสิ่งที่ดีกว่าเดิม


Legal Architect

Bookmark and Share

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ12 กันยายน 2556 เวลา 23:15

    "ทัศนะคติของคนในองค์กรที่ถูกต้อง" ตรงนี้แหละยากสุด

    ตอบลบ