วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552

การมีส่วนร่วมของการแบ่งปันความรู้ของคนในชุมชนออนไลน์


ในการขับรถมาทำงานทุกวัน หรือจะเดินทางไปไหนในกรุงเทพฯ ผู้เขียนจะเปิดวิทยุคลื่น 91 MHz (สวภ 91) ซึ่งเป็นวิทยุที่มีการรายงานข่าวสาร โดยเฉพาะข่าวสารการจราจร รายงาสภาพการจราจรในแต่ละช่วงเวลาแต่ละช่วงของถนน รายงานการขอความช่วยเหลือบนท้องถนน ฯลฯ ผู้ที่ทำหน้าที่รายงานก็คือสมาชิกผู้ฟังรายการ สวภ 91 นั่นเอง โดยการรายงานข้อมูลเข้าไปยังรายการวิทยุสดและรายงานข้อมูลในรายการ ผลที่ได้คือ มีระบบการรายงานข่าวการจราจรที่มีประสิทธิภาพ และประหยัด เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนแอบคิดไปว่า หากไม่มี สวภ 91 หากผู้เขียนเป็นภาครัฐ จะต้องจัดให้มีระบบการรายงานข่าวข้อมูลการจราจรทางวิทยุ ผู้เขียนจะทำอย่างไร? ด้วยปัญญาที่มีอยู่ผู้เขียนก็จะตั้งหน่วยงานเฉพาะ จัดจ้างพนักงานบุคคลากรเพื่อทำหน้าที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำหน้าที่ในการรายงานข่าวการจราจร ซึ่งต้องมีจำนวนมากพอที่จะรายงานที่จะรายงานข่าวการจราจรได้ครอบคลุมทั่วการจราจรในกรุงเทพฯ ผู้เขียนพยามคิดอยู่ว่า ทรัพยากรที่ใช้ไปเพื่อให้ได้ซึ่งระบบการรายงานข่าวการจราจรที่ดีพอหรือดีกว่า สวภ 91

เมื่อมาถึงที่ทำงาน ผู้เขียนก็เริ่มทำงาน โดยปกติงานของผู้เขียนเป็นงานการค้นคว้าเป็นเสียส่วนใหญ่ ผู้เขียนอ่านเอกฉบับหนึ่งแล้วไม่รู้จักคำว่า "Lurker" หากแปลตามตัวแล้วหมายถึงผู้ที่เมินเฉย ผู้แอบซุ่ม ซึ่งไม่อาจเข้าใจในความหมายในบริบทหนึ่งๆ ได้ ผู้เขียนจึงค้นคำดังกล่าวใน wikipedia ซึ่งเป็นเว็บสารานุกรมที่มีสมาชิกเป็นหมื่นๆ คน ร่วมกันเขียนเนื้อหาความรู้ในแบบสารานุกรม ซึ่งก็ยังมีคำเขียนให้ความหมายของคำว่า "Lurker" ซึ่งหมายถึง คนที่เข้าร่วมในชุมชนออนไลน์โดยการเข้าไปดู อ่าน ข้อมูล ใช้ข้อมูลที่มีกาแบ่งปันกันในเครือข่าย แต่ไม่เคยแสดงความคิดเห็น หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนเลย ทำให้ผู้เขียนเข้าใจเอกสารที่อ่านได้ทันที ผู้เขียนแอบคิดไปว่า ถ้าผู้เขียนต้องการสร้างสารานุกรรมขึ้นมาสักฉบับจะต้องลงทุนลงแรงในเรื่องอะไรบ้าง เพื่อให้ได้สารานุกรมที่มีเนื้อหาที่มีจำนวนหรือคุณภาพพอๆ กับ wikipedia

การรายงานข่าวการจราจรก็ดี ฐานข้อมูลสารานุกรมของ wikipedia ล้วนแต่เป็นนวัตกรรมผลผลิต อันเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคน ในการแบ่งปันข้อมูลที่ตนมี โดยไม่มีค่าตอบแทน ผู้ที่โทรศัพท์เข้าไปรายงานข้อมูลการจราจนในเวลาหนึ่ง ก็เป็นผู้ใช้รถใช้ถนนธรรมดาที่ไปประสบพบเจอเรื่องที่ต้องการแจ้งให้คนอื่นทราบ เช่น อุบัติเหตุ รถติด เป็นต้น คนที่เข้าไปเขียนหรือแก้ไขเนื้อหาจำนวนหลายหมื่นคนใน wikipedia ก็เป็นสมาชิกธรรมดาของ wikipedia ซึ่งทำไปโดยไม่มีค่าตอบแทน การแบ่งปันข้อมูลทั้งสองตัวอย่างเป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่มีการบังคับโดยอำนาจใดๆ เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนเกิดข้อสงสัยว่าอะไรเป็นแรงจูงใจที่ทำให้คนๆ หนึ่งแบ่งปันข้อมูลที่ตนประสบหรือเป็นข้อมูลที่ตนทราบ ให้กับผู้อื่น ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการจัดการความรู้

ในบทความฉบับก่อน ผู้เขียนได้กล่าวถึงปัญหาอุปสรรคสำคัญของการจัดการความรู้ (ซึ่งแท้จริงผู้เขียนอยากเรียกมันว่า "การแลกเปลี่ยนความรู้)คือ "ลักษณะนิสัยของคนในองค์กรที่ไม่มีการแบ่งปันสิ่งที่ตนรู้ให้กับผู้อื่นรู้" ปัญหานี้อาจกล่าวได้โดยไม่ผิดว่า เป็นจุดเป็นจุดตายหรือเงื่อนไขของความสำเร็จหรือความล้มเหลวเลยก็ว่าได้ แต่มีข้อสังเกตว่า แม้ว่าปัญหานี้จะเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในการจัดการความรู้ แต่แผนการจัดการความรู้ของแต่ละองค์กร (โดยเฉพาะส่วนราชการ) มักจะมุ่งกล่าวถึง แนวนโยบายที่เป็นหลักการ มุ่งไปที่ "ข้อมูลความรู้" ที่ต้องการให้เกิด หรือ "อุปกรณ์" เครื่องมือในการทำงาน โดยใช้อำนาจในการปกครองเสียเป็นส่วนใหญ่ แผนการจัดการความรู้นั้นมีน้อยมากที่จะกำหนดเป้าหมายในการจัดการปรับปรุงพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคดังกล่าว action plans ในการดำเนินการตามแผนที่ออกมาจึงไม่ได้มุ่งที่จะปรับพฤติกรรมในเรื่องดังกล่าว ผลที่ตามมาก็คือเป้าหมายของการจัดการความรู้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ หรือมีการพัฒนาการจัดการความรู้ที่ไม่ยังยืน

เพื่อค้นหาทางแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของพวกซุ่ม ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่แบ่งปัน ทำอย่าง? จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจในปัญหาพื้นฐานของพฤติกรรมของคนในเรื่องดังกล่าว และศึกษาพฤติกรรมของคนในเครือข่ายที่คนในเครืยข่ายมีการแบ่งปันข้อมูลกันเป็นจำนวนมาก เพื่อให้รู้ถึงแรงจูงใจทั้งคนที่ "ไม่ชอบแบ่งปัน" และคนที่ "ชอบแบ่งปัน"

เหตุใดคนๆหนึ่งถึงเข้าร่วมในแบ่งปันข้อมูลในชุมชนออนไลน์ (online cmmunities)

คำถามนี้เป็นคำถามแรกของการวิจัยปัญหา ในการหาคำตอบนั้น ได้มีผู้วิจัยถึงสาเหตุของการเข้าร่วมในสังคมออนไลน์ Peter Kollock ได้เคยกล่าวถึงแรงจูงใจในเรื่องดังกล่าวไว้ในหนังสือ The Economies of Online Cooperation: Gifts and Public Goods in Cyberspace โดย Kollock ได้สรุปถีงแรงจูงใจในการเข้าร่วมในสังคมออนไลน์ของคนไว้ 3 ประการ ได้แก่

1. หวังในสิ่งตอบแทน (Anticipated reciprocity) กล่าวคือ ผู้ที่เข้าร่วมแบ่งปันหรือทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็หวังว่าจะได้รับสิ่งตอบแทนจากสมาชิกในกลุ่มหรือเครือข่าย แรงจูงใจนี้ค่อนข้างชัดเจน ตัวอย่างที่ดีที่แสดงถึงแรงจูงประเภทนี้คือ กลุ่มคนที่ใช้โปรแกรมที่เรียกว่า "bittorrent" ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายที่เกิดจากการรวมตัวของคนกล่มหนึ่งผ่านระบบอินเตอร์เน็ต คนกลุ่มนี้จะต้องแบ่งบัน (share) ข้อมูลอย่างหนึ่งอย่างใดเข้าไปในเครื่องส่วนกลาง เพื่อให้ตนเองมีสิทธิ์เอา (download) ข้อมูลที่ตนต้องการจากคนอื่นได้ เป็นต้น

2. ความต้องการเป็นที่รู้จัก (Increased recognition) การมีชื่อเสียงจากการแบ่งปันข้อมูลในเครือข่ายชุมชนออนไลน์นั้นก็เป็นแรงจูงใจที่สำคัญอย่างหนึ่ง การมีชื่อเสียงจากการแบ่งปันข้อมูลในสังคมออนไลน์นั้นเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของผู้เข้าร่วมเครือข่าย ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นแรงจูงใจประเภทนี้ เช่น การแสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ดต่าง เช่น พันทิพ เป็นต้น บุคคลจะใช้ log in หรือชื่อที่ผู้เข้าร่วมในชุมชนนั้นใช้แทนตัวเองเพื่อใช้ในการแสดงความคิด ความเห็น ใช้ในการสำเสนอข้อมูลต่อสมาชิกในกลุ่ม log in ที่มีการแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง มีการแบ่งปันข้อมูลความรู้ มีการแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มสมาชิก บุคคลนั้นหรือ log in นั้นจะได้รับการยอมรับให้เป็นบุคคลสำคัญ นอกจากนี้ ในระบบบอร์ดของพันทิพเองยังจัดให้มีระบบการให้คะแนนต่อความเห็นที่สมาชิกเห็นว่าเป็นที่ถูกใจหรือที่เรียกว่า "give" สมาชิกคนใดมี give มากแสดงว่าเป็นคนที่ให้ข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นเป็นที่ยอมรับของคนในห้องสนนา (ชุมชน)

3. ต้องการให้เกิดประโยชน์ (Sense of efficacy) ในสังคมโดยเฉพาะในสังคมออนไลน์นั้น ย่อมเป็นการรวมตัวของของกลุ่มคนที่อาจมีความสนใจที่เหมือนกัน มีความต้องการคล้ายกัน อยู่ในองค์กรเดียวกัน หรืออาจมีความเกี่ยวกันกันทางใดทางหนึ่ง ผู้มีส่วนร่วมในการแบ่งปันข้อมูลในกลุ่มหนึ่งๆ ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มสัมคนด้วย ย่อมทราบดีถึงผลประโยชน์ของข้อมูลความรู้ที่ตนได้ให้ไป ข้อมูลความรู้ที่ให้มีโอกาสน้อยมากที่จะไร้ประโยชน์ เนื่องจากทั้งผู้ให้และผู้รับมีความต้องการตรงกัน ผู้ให้ให้ข้อมูลในสิ่งที่รู้และคิดว่าจะเป็นประโยชน์ ผู้รับก็ได้รับข้อมูลที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง wikipedia เป็นตัวอย่างที่สำคัญที่แสดงให้เห็นแรงจูงใจในเรื่องนี้ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

แรงจูงใจทั้งสามอย่างของคนที่เข้าร่วมและมีปฏิสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งในชุมชนออนไลน์ หากแปลความในทางกลับ ก็จะเห็นถึงสาเหตุที่ทำให้ Lurker หรือกลุ่มคนที่มักเฉยเมย แปลความง่ายๆ อาจเป็นการไม่มีแรงจูงใจทั้งสาม ผู้เขียนเห็นว่า อาจเป็นการสรุปที่เร็วเกินไป ผู้เขียนเชื่อว่า โดยธรรมชาติในเรื่องความต้องการของคน (โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเครือข่ายชุมชนเดียวกัน) ต้องการในสิ่งที่คล้ายกันหรือเหมือนกัน เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนนึกภาพในห้องประชุมระดมความเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานราชการ สภาพก็คงไม่ต่างกันมากกล่าวคือ จะมีคนพูดน้อยกว่าคนฟังเฉยๆ ผู้เขียนก็เคยเป็นคนที่ขอฟังอย่างเดียวไม่แชร์ในสิ่งที่ตนรู้ ผู้เขียนก็ลองคิดว่าในเวลานั้นผู้เขียนคิดอะไร? สิ่งที่ผู้เขียนคิดก็คิด "พูดไปก็ไม่มีประโยชน์" "แสดงความคิดไปก็ไม่ได้มีผลอะไร" หรือ "อยู่นิ่งๆ น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า" ความคิดเหล่านี้ก็บังเอิญไปตรงกับการวิจัยถึงสาเหตุของการไม่มีปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมออนไลน์หนึ่งๆ ซึ่งได้กล่าวถึงสาเหตุสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1) ทัศนะคติของคนที่ว่าตนไม่มีความจำเป็นต้องทำ และ 2) ทำไปก็ไม่มีผลอะไรไม่มีใครสนใจเราอยู่แล้ว ทัศนะคตินี้จะเป็นปราการขัดขวางด่านแรกที่ป้องกันคนในอันที่จะ "เริ่ม" แสดงความคิดเห็น ให้ข้อมูล หรือมีปฏิสัมพันธ์ในเรื่องอื่นๆ ในชุมชนออนไลน์

สิ่งทีเพิ่งนำเสนอไปเป็นกล่าวถึงปัญหาอุปสรรคของการแบ่งปันความรู้ที่สำคัญคือ การไม่มีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนในสังคม การลักษณะการแบ่งปันความรู้แก่กัน และได้นำเสนอถึงแรงจูงใจของคนที่มักจะมีปฏิสัมพันธ์หรือการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันในกลุ่มหรือเครือข่ายของตน โดยวิเคราะห์และค้นหาจากตัวอย่างของกลุ่มชุมชนออนไลน์ที่ค่อนข้างจะประสบความสำเร็จในเรื่องการแบ่งปันความรู้ ในบทความตอนต่อไป ผู้เขียนจะได้นำเสนอวิธีการสร้างแรงจูงใจ เชื้อเชิญ เพื่อให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์หรือการแบ่งปันข้อมูลของคนในชุมชนออนไลน์ต่อไป


Legal Architect

Bookmark and Share

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น