วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552

การสร้างวัฒนธรรมการแบ่งปันความรู้ระหว่างคนในองค์กร

บทความสองเรื่องก่อนหน้าที่ "ปัญหาของการจัดการความรู้" ผู้เขียนได้นำเสนอถึงกุญแจความสำเร็จในการจัดการความรู้ โดยผู้เขียนได้เน้นไปในเรื่องของลักษณะนิสัยของการมีปฏิสัมพันธ์ การแบ่งปันข้อมูลความรู้ของคนในชุมชนออนไลน์ ซึ่งลักษณะนิสัยดังกล่าวยังมีปัญหาอยู่มากโดยเฉพาะคนไทย และในเรื่องที่สอง "การมีส่วนร่วมของการแบ่งปันความรู้ของคนในชุมชนออนไลน์" โดยผู้เขียนได้รวบรวมและสรุปจากการวิเคราะห์ถึงสาเหตุในเรื่องของแรงจูงใจของคนที่มีลักษณะที่มักจะมีปฏิสัมพันธ์ แสดงความคิดเห็น แบ่งปันข้อมูลความรู้ในชุมชนออนไลน์ และวิเคราะห์ถึงสาเหตุของคนที่เฉยเมยไม่มีปฏิสัมพันธ์ ไม่แสดงความคิดเห็นหรือแบ่งปันข้อมูลในสัมคมออนไลน์ด้วย

เมื่อถามว่าเหตุใดผู้เขียนจึงได้เขียนเรื่องการจัดการความรู้โดยมุ่งเน้นไปที่ปัญหาพฤติกรรมของคน ไม่ได้กล่าวถึงแผนนโยบายการจัดการความรู้ ไม่ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาใช้ในการจัดการความรู้ คำตอบก็คือ การจัดการความรู้ ในมุมมองของผู้เขียนการจัดการความรู้ก็คือการแลกเปลี่ยนความรู้ คือการเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น การจัดการความรู้เป็นเครื่องของ "คน" ปัญหาของการจัดการความรู้ที่สำคัญก็คือ "ปัญหาของคน" คนอยากรู้อะไร? คนเรียนรู้ได้อย่างไร? ในการแลกเปลี่ยนความรู้จำเป็นต้องมี "เครื่องมือ" อันเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างคน เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่มักจะนำมาใช้ก็คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งแต่ละเทคโนโลยีก็มีลักษณะเฉพาะและความสามารถที่แตกต่างกันออกไป ในการดำเนินการทั้งหมดต้องมีแผนนโยบายในการจัดการความรู้เป็นสิ่งที่ตามมาเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลให้บรรุลเป้าหมายที่วางไว้ อุปมากับการการจัดการความรู้เป็น "เสื้อผ้า" ที่ใช้สวมใส่ เมื่อเราบอกว่าจะต้องมีเสื้อผ้าสักชุด สิ่งแรกที่เราพูดถึงไม่ใช่เรื่องของเสื้อผ้า แต่เราเรากล่าวถึง "คน" ที่จะเป็นผู้สวมใส่เสื้อผ้านั้น เราจะตั้งคำถามว่า ผู้จะใส่เสื้อผ้าเป็นใคร? รูปร่างของผู้ใส่เสื้อผ้านั้นเป็นอย่างไร? ผู้สวมใส่จะใส่ในโอกาสใด? สภาพแวดล้อมของผู้สวมใส่เป็นอย่างไร? เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งเมื่อได้คำตอบแล้วจึงจะทำการกำหนดรูปแบบของเสื้อผ้า ออกแบบและตัดเย็บให้พอดีกับตัวของผู้ใส่

ผู้เขียนก็เป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของสำนักงานฯ มีภาระงานก็เหมือนกันกับเจ้าหน้าที่อื่นในสำนักงานฯ จึงอาจที่จะให้ข้อมูลเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง ภารกิจหลักของสำนักงานฯ เป็นเรื่องการร่างกฎหมายและการให้ความเห็นทางกฎหมาย ในการทำงานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยข้อมูลเป็นจำนวนมาก ในการจัดการความรู้ของสำนักงานในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้เขียนเห็นว่า สำนักงานฯ ทุ่มเทและให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาและจัดเก็บความรู้เป็นอย่างมาก (โดยเฉพาะความรู้โดยชัดแจ้ง เช่น กฎหมายทั้งในระดับแม่บทและลูกบท คำวินิจฉัยขององค์กรต่างๆ เป็นต้น) ดังจะเห็นได้จากการมีแบ่งส่วนราชการที่รับผิดชอบในภารกิจนี้โดยเฉพาะ คือ "ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง" และโดยวิสัยทัศน์ของสำนักงานฯ ในการเป็นศูนย์กลางข้อมูลกฎหมายของประเทศ จนการกล่าวว่าฐานข้อมูลกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นฐานข้อมูลกฎหมายที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศในเวลานี้ก็เห็นจะไม่เป็นการกล่าวเกินจริง สำนักงานมีระบบการติดตามความคืบหน้าของการจัดทำร่างกฎหมายและการให้ความเห็นทางกฎหมาย (Office Automation) เพื่อให้ทุกคนในองค์กรได้รู้และทราบความคืบหน้าในงานแต่ละเรื่อง และนั่นก็เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของการจัดการความรู้ของสำนักงานฯ
แต่ความท้าทายใหม่ ณ เวลานี้ของการจัดการความรู้ของสำนักงานฯ คือ การดึงเอาความรู้ที่อยู่กับบุคคลของสำนักงานฯให้มีการถ่ายทอดไปยังบุคคลอื่นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร? ผู้รู้ในองค์กรมีมาก แต่ละคนก็มีความรู้ความชำนาญที่ต่างกันออกไป จะทำอย่างไรให้มีการถ่ายทอดความรู้โดยที่ผู้ที่ทำการถ่ายทอดไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ เป็นสิ่งแปลกปลอมในกระบวนการทำงาน เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่นโดยธรรมชาติของความต้องการของคน เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องขบคิดและหาทาง

เมื่อผู้เขียนได้รับโจทก์ของการจัดการความรู้ดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนนึกถึงการอุปมาการจัดการความรู้กับการ "ตัดเสื้อผ้า" ดังกล่าว ถ้าผู้เขียนเป็นสำนักงานฯ ผู้เขียนต้องการสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ใหม่ดังกล่าว สิ่งที่ผู้เขียนต้องนึกถึงเป็นอันดับแรกก็คือ "เจ้าหน้าที่" ทุกคนของสำนักงานฯ ในการพัฒนาการจัดการความรู้ ซึ่งก็คือการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างคนในสำนักงานฯ สิ่งที่ต้องรู้เป็นอันดับแรกก็คือ

1. ความรู้ที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการทำงานคือความรู้อะไร?

2. ความรู้ดังกล่าวเกิดขึ้นตอนไหน?

3. คนในสำนักงานฯ มีพฤติกรรมอย่างไรในการนำความรู้ดังกล่าวแบ่งให้กับคนอื่นในสำนักงานฯ?

4. ความสัมพันธ์ของคนในสำนักงานฯ เป็นอย่างไร?


Legal Architect


โปรดอ่านต่อ การสร้างวัฒนธรรมการแบ่งปันความรู้ระหว่างคนในองค์กร (ตอนที่ 2)

Bookmark and Share

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น