วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บันทึก KM Young Elite : ข้อเสนอแนวทางการจัดการความรู้ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ตอนที่ 2)

บันทึกตอนที่แล้วนั้น ผู้เขียนได้กล่าวถึงเหตุผลที่ผู้เขียนได้เขียนบันทึกฉบับนี้ขึ้น ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ต้องการที่จะเห็นสำนักงานฯ ได้ยกระดับการจัดการความรู้ของสำนักงานฯ ให้เป็นการจัดการความรู้ที่ให้มุ่งให้ผลตรงกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการจัดการความรู้ให้มากที่สุด คือ เป็นเครื่องมือระดมความรู้ในคน (tacit knowledge) และความรู้โดยชัดแจ้ง (explicit knowledge) ให้มีการถ่ายทอดกันระหว่างบุคคลเพื่อให้มีการนำความรู้นั้นไปใช้งาน หรือเพื่อให้เกิดการเรียนรู้เพื่อต่อยอด และส่งผลให้เกิดนวัตกรรมทางความรู้ใหม่ๆ โดยทั้งหมดนั้นดำเนินไปด้วยความเป็นธรรมชาติและยั่งยืน สอดคล้องต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เป็นอยู่ อันจะส่งผลดีต่อการทำหน้าที่หลักของสำนักงานฯ อันได้แก่ การร่างกฎหมายและการให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่รัฐบาลได้ ซึ่งการที่สำนักงานฯ จะเดินไปถึงจุดดังกล่าวได้นั้น จะต้องอาศัยการวางแผนกลยุทธ์และกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติที่เป็นระบบ เพื่อให้การจัดการความรู้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง สอดคล้องต่อแนวการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

การจัดการความรู้ที่จะประสบความสำเร็จนั้น มิอาจเกิดได้โดยการใช้ “อำนาจ” สั่งการของฝ่ายบริหาร แต่เกิดจากการที่บุคลากรของสำนักงานฯ นั้น ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นของการเรียนรู้ของตนเอง และเห็นถึงหนทางในการเรียนรู้และเพิ่มพูนความรู้ของตนเอง โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบุคลากรในสำนักงานฯ (หรืออาจขยายไปภายนอกสำนักงานฯ) บุคลากรแต่ละคนเห็นถึงผลประโยชน์ของการเรียนรู้ของบุคคลอื่นจากการจากการเผยแพร่ความรู้ของตน หรือเห็นถึงประโยชน์ของการเรียนรู้ของตนเองจากการแลกเปลี่ยนความรู้กับบุคคลอื่น และบุคลากรเหล่านั้นก็ได้ลงมือเข้าร่วมกิจกรรมหรือแผนการดำเนินการการจัดการความรู้อย่างจริงใจด้วยความเข้าใจและเต็มใจ ส่งผลให้เกิดสภาพของการเรียนรู้อย่างยั่งยืน หรือเรียกว่า “องค์กรแห่งการเรียนรู้


ขั้นเริ่มต้นของการจัดการความรู้คือการ “วางแผน” การดำเนินการ ซึ่งผู้เขียนได้กำหนดประเด็นเพื่อพิจารณาการวางแผนไว้ 4 เรื่อง ได้แก่ วิเคราะห์และกำหนดเป้าหมายและขอบเขตที่ชัดเจนของการจัดการความรู้ วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่จะทำให้การจัดการความรู้ประสบความสำเร็จ กำหนดแผนและขั้นตอนปฏิบัติสำหรับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยการแสดงเหตุผลของการเลือกใช้กิจการหรือแผนการดังกล่าว และ วิธีการวัดผลความสำเร็จของการดำเนินการตามแผน



วิเคราะห์และกำหนดเป้าหมายและขอบเขตที่ชัดเจนของการจัดการความรู้


ปรับทัศนะคติที่มีต่อการจัดการความรู้

ก่อนการกำหนดเป้าหมายของการจัดการความรู้นั้น ทัศนะคติหรือสมมุติฐานความเชื่อต่อการจัดการความรู้จะเป็นตัวการสำคัญที่มีส่วนต่อการกำหนดแนวทางหรือทิศทางของการจัดการความรู้ คำถามที่ฝ่ายที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาให้ชัดเจนเป็นอันดับแรกก่อนคือ เรากำลังจะ "จัดการความรู้" หรือ "จัดการความไม่รู้" ของคนในองค์กร (ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.))

ความเข้าใจผิดของการจัดการความรู้ประการหนึ่งซึ่งมักจะปรากฏให้เห็น คือ ความคิดว่าการจัดการความรู้คือกิจกรรมที่ “ผู้มีความรู้” เอาความรู้มาจัดระบบ สังเคราะห์ความรู้ขึ้นเพื่อให้ผู้อื่นใช้ หรือ ที่เรียกว่า “เป็นการจัดการความรู้ด้านอุปสงค์” (supply-side KM) ซึ่งรูปแบบดังกล่าวนั้นเป็นเพียงส่วนเล็ก หรือเป็นกระบวนการสนับสนุนการจัดการความรู้เท่านั้น แต่การจัดการความรู้ที่แท้จริงนั้น เป็นการดำเนินกิจกรรมร่วมกันในระหว่างกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน ในการช่วย “ดึง” เอาความรู้ที่มีอยู่ในบุคคล และเป็นกิจกรรมที่สามารถ “คว้า” (capture) ความรู้ที่เกิดขึ้นนั้นไว้จากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ สามารถนำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ได้ และความรู้นั้นอาจพัฒนากลายมาเป็นความรู้ขององค์กร ที่สามารถนำไปใช้ ต่อยอด หรือยกระดับความรู้ขึ้นไปอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นระบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องต่อความเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศและระดับโลกได้เป็นอย่างดี การจัดการความรู้ในลักษณะดังกล่าวเรียกว่า การการจัดการความรู้ด้านอุปทาน (demand-side KM) (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช : http://gotoknow.org/blog/thaikm)

เราต้องการอะไรจากการจัดการความรู้?

เราจะทราบคำตอบว่าเป้าหมายและขอบเขตของการจัดการความรู้ของสำนักงานฯ คืออะไรได้ เราจะต้องตอบคำถามว่า “เราต้องการอะไรจากการจัดการความรู้” เราต้องการให้เครื่องมือที่ชื่อว่าการจัดการความรู้ (KM) ส่งผลอย่างไรต่อสภาพการเรียนรู้เพื่อนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่ทุกระดับของสำนักงานฯ

การพัฒนาบุคลากรของสำนักงานฯ ให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ทันต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และมีความยั่งยืนนั้น ต้องมีกระบวนการการทำงานหรือระบบพื้นฐานที่เป็นสิ่งที่ทำให้บุคลากรของสำนักงานฯ เกิดการเรียนอยู่อย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา กิจกรรมการฝึกอบรมให้ความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น "ไม่เพียงพอ" ที่จะทำให้เกิด "ความรู้" และ "การเรียนรู้" ที่เพียงพอแก่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ได้ ด้วยเหตุในเรื่องข้อจำกัดในหลายประการ เช่น งบประมาณ หรือเวลา เป็นต้น

คำถามคือ แล้วจะมีกระบวนการหรือเครื่องมือใดที่จะสร้างระบบของการสร้างความรู้และการเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ที่เพียงพอ ยั่งยืน และทันต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงได้ ผู้เขียนขอเสนอให้สำนักงานฯ ใช้ประโยชน์จากผลของการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ทั้งหมดในสำนักงานฯ โดยมีลักษณะเป็นเครือข่ายชุมชน (community) ที่มีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันที่ดำเนินไปโดยธรรมชาติของคนที่มีความต้องการอย่างเดียวกัน มีการสร้างและแบ่งปันความรู้เข้าไปยังเครือข่าย และคนในเครือข่ายนั้นเองก็มีการนำเอาความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานของตน

ความเป็นเครือข่ายหรือกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันนี้เอง จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่สำคัญอย่างหนึ่งของสำนักงานฯ จะเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดสร้างความรู้ แบ่งปันความรู้ และเกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคลากรของสำนักงานฯ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้ สามารถอาศัยเครื่องมือในการบริหารจัดการที่เรียกว่า "การจัดการความรู้" เป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการหรือระบบดังกล่าวได้

ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอเสนอให้แผนการจัดการความรู้ของสำนักงานฯ นั้น กำหนดให้ "การมีระบบเครือข่ายการแบ่งปันความรู้ระหว่างเจ้าหน้าทื่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา" เป็นเป้าหมายของการจัดการความรู้ (Desired State) ที่สำนักงานฯ จะนำมาใช้

“ความรู้” ที่ต้องการคือความรู้แบบใด?

เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้ว กระบวนการจัดการความรู้คือ การ “ระบุ” ความรู้ความที่สำนักงานฯ เห็นว่าจำเป็นและสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของสำนักงาน (ร่างกฎหมายและการให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพ)

ผู้เขียนเป็นผู้ที่มีประสบการการณ์น้อย มิอาจชี้ได้อย่างชัดเจนว่า “ความรู้ประเภทใด” ที่เป็นความรู้ที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของสำนักงานฯ กระบวนการในการระบุความรู้ที่จำเป็นต่อยุทธศาสตร์นั้นสามารถกระทำโดยผ่านเครื่องมือในการประเมินที่มีประสิทธิภาพ (แบบประเมินที่ 4 )

บันทึกฉบับนี้เป็นแนวทางการจัดการความรู้ที่ผู้เขียนนำเสนอต่อสำนักงานฯ ผู้เขียนในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งในสำนักงานฯ ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบคล้ายกันกับเจ้าหน้าที่คนอื่น สภาพปัญหาการเรียนรู้ของผู้เขียนก็อาจสะท้อนถึงปัญหาการเรียนรู้โดยทั่วไปของบุคคลากรของสำนักงานฯ ได้ ปัญหาการเรียนรู้ของผู้เขียนนั้นสามารถใช้แสดงตัวอย่างของการระบุ “ความรู้” ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของผู้เขียนเอง (ซึ่งเชื่อว่าอาจสอดคล้องตรงกันกับเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบแบบเดียวกัน) โดยผู้เขียนเองประสงค์ให้เป็นกรณี “ตัวอย่าง” ของการกำหนดเป้าหมายของการจัดการความรู้ ซึ่งกรณีเดียวกันนี้ก็จะใช้เป็นตัวอย่างในกระบวนการกำหนดแผนงานการจัดการความรู้ และวิธีการวัดผลความสำเร็จของการจัดการความรู้ที่จะนำเสนอต่อไปด้วย และตัวอย่างดังกล่าวต้องการที่จะแสดงให้เห็นว่า เป้าหมาย วิธีการดำเนินการ และการวัดผล นั้นจะต้องมีความสอดคล้องกัน มีความเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันอย่างไร

สภาพปัญหาของการเรียนรู้ (ของผู้เขียน)

เมื่อผู้เขียนได้รับมอบหมายงาน ไม่ว่าจะเป็นงานร่างกฎหมายหรืองานให้ความเห็นทางกฎหมาย สิ่งที่ผู้เขียนจะต้องทราบเป็นอันแรกคือ “ข้อมูล” ใดบ้างที่ใช้ในการประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายหรือข้อหารือที่กำลังดำเนินการอยู่ ปัญหาแรกที่ผู้เขียนประสบคือ การพิจารณาว่าข้อมูลใดบ้างที่เป็นข้อมูลที่จะต้องนำมาเพื่อประกอบการพิจารณา ความสามารถในการที่จะพิจารณาได้ว่า ร่างกฎหมายหรือข้อหารือทางกฎหมายในเรื่องใดประเด็นใด นั้น จะต้องนำความรู้ในเรื่องอะไรบ้างมาประกอบการพิจารณาให้ “ครบถ้วน” (ไม่ขาดตกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นผลให้งานร่างกฎหมายหรือความเห็นทางกฎหมายนั้นไม่สมบรูณ์ได้) นั้น จะต้องอาศัย “ประสบการณ์” และ “ความสามารถในการมองปัญหาในเชิงโครงสร้าง” เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องของ “ข้อเท็จจริง” และ “โครงสร้างทางกฎหมาย” ที่ปรับใช้กับข้อเท็จจริงนั้นๆ

ความสามารถในการระบุข้อมูลที่จะต้องใช้แก่งานร่างกฎหมายหรือให้ความเห็นทางกฎหมายแก่กรณีใดกรณีหนึ่งนั้น จะมีอยู่สูงมากในเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานฯ ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ อันเกิดจากการผ่านการทำงานมาเป็นจำนวนมาก ความสามารถดังกล่าวผู้เขียนเห็นว่าเป็น “ความรู้” ที่สำคัญอย่างหนึ่งในการปฏิบัติงาน ความรู้ดังกล่าวผู้เขียนได้มาจากสามทาง ได้แก่ จากความรู้เดิมที่ตนเองมีอยู่ (ซึ่งเป็นการไม่แน่ว่าจะเพียงพอหรือไม่) ส่วนที่สองได้มาจากเพื่อนร่วมงานที่เกิดจากการพูดคุยสนทนาหรือเกิดจากการเรียนรู้จากบันทึกความเห็นของเจ้าหน้าที่ที่เคยรับผิดชอบเรื่องที่คล้ายหรือใกล้เคียงกัน และส่วนสุดท้ายได้มาจากผู้บังคับบัญชาที่มาจากการพิจารณาเรื่องที่นำเสนอ แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าแหล่งความรู้ในเรื่องดังกล่าวเพียงพอทุกครั้งทุกกรณีไป ซึ่งมีบางครั้งที่การกำหนดข้อมูลหรือแหล่งความรู้ของผู้เขียนนั้นขาดตกบกพร่องไปก็ได้

ปัญหาประการต่อมาของผู้เขียนคือ “ข้อมูล” ที่จำเป็นดังกล่าวสามารถตรวจสอบหรือหาได้จากที่ใด ผู้เขียนได้ใช้ประโยชน์จากการจัดการข้อมูลสารสนเทศของสำนักงานฯ ที่ได้ออกแบบและมีการจัดการข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง (ระบบ DL หรือระบบ OA) ระบบ DL มีข้อมูลที่มีการจัดเก็บในระบบดังกล่าวที่สำคัญได้แก่ ตัวบทกฎหมายทุกชนิด คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา คำวินิจฉัยขององค์กรอื่นๆ เอกสารแฟ้มเรื่องเสร็จ รายชื่อหนังสือ วารสาร บทความ หรือเอกสารอื่นๆ ที่ได้มีการวิเคราะห์รวบรวบ หรือจัดทำขึ้น เป็นต้น ที่มีการจัดเก็บไว้ ซึ่งการจัดเก็บเอกสารในระบบ DL นั้นจะใช้ระบบของการจัดเก็บและจัดหมวดหมู่ที่สำคัญ คือ การจัดเก็บตามลำดับเวลาที่เกิดขึ้นของเอกสาร หรือจัดหมวดหมู่โดยลำดับตัวอักษร หรือจัดหมวดหมู่โดยการใช้ประโยชน์ เป็นต้น และมีการนำเทคโนโลยีของระบบการค้นหาเอกสาร (search engine) เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการค้นหาเอกสารอีกทางหนึ่ง สำนักงานฯ มีระบบติดตามงานร่างกฎหมายและงานให้ความเห็นทางกฎหมาย (ระบบ OA) นอกจากฐานข้อมูลดังกล่าวเป็นฐานข้อมูลที่สำนักงานฯ เป็นผู้จัดทำขึ้น ผู้เขียนยังได้อาศัยประโยชน์จากฐานข้อมูลที่มีการเผยแพร่อยู่ทั่วไปในระบบ internet ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญอย่างหนึ่งของการทำงาน

ถ้าเวลาของการลงมือทำงานของผู้เขียนมีอยู่ทั้งหมด 100 ส่วน ผู้เขียนจะต้องใช้เวลาไปกับการ “ค้นหา” ข้อมูลประมาณ 50 ส่วน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของเวลาที่ใช้ทำงานทั้งหมด แต่ถ้าหากผู้เขียนได้รับการชี้แนะถึงแหล่งของฐานข้อมูลที่ผู้เขียนต้องการไม่ว่าจะโดยทางใด ผู้เขียนก็จะใช้เวลาในการค้นคว้าข้อมูลดังกล่าวน้อยลง และมีเวลาสำหรับขั้นตอนอื่นๆ มากขึ้น หรืออาจเป็นปัญหาว่าผู้เขียนไม่สามารถที่จะค้นพบข้อมูลที่จำเป็นต่อการพิจารณาที่อยู่ในความรับผิดชอบ (ซึ่งอาจเกิดจากขั้นตอนการระบุข้อมูลที่ต้องพิจารณา หรือเกิดจากการสืบค้นที่ไม่ดี) ซึ่งหากเกิดขึ้นจะส่งผลเสียต่องานร่างกฎหมายหรืองานให้ความเห็นทางกฎหมายเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ปัญหาประการหนึ่งของผู้เขียนในกระบวนการค้นข้อมูลคือ หากเรื่องที่ได้รับมอบหมายเรื่องใดมีระยะเวลาที่เร่งรัด จะก็เป็นผลให้เวลาที่มีในการค้นคว้านั้นน้อยลงไปด้วย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า “ความสามารถในการระบุตำแหน่งหรือที่อยู่ของข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างครบถ้วนและรวดเร็ว” นั้น เป็น “ความรู้” ประเภทหนึ่งที่ผู้เขียนต้องการ

ทักษะหรือความรู้ที่สำคัญประการหนึ่งที่ผู้เขียนต้องการเรียนรู้จากเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ของสำนักงานฯ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อบุคลากรทางกฎหมายของสำนักงานฯ (โดยเฉพาะอย่างอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ) คือ “ระบบความคิดที่เป็นตรรกะ” (Logical Thinking) ระบบความคิดที่เป็นตรรกะนั้น เป็นทักษะของการแก้ไขปัญหาหรือการดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างมีเหตุและผล มีการวางแผนที่เป็นขั้นตอน มีการลำดับเรื่องราวก่อนหลัง สามารถมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ทั้งในภาพรวม และในรายละเอียด

ทักษะของระบบความคิดที่เป็นตรรกะนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างมาก ต่อการปฏิบัติงานร่างกฎหมายและการให้ความเห็นทางกฎหมาย กล่าวคือ ผู้ที่มีทักษะในเรื่องระบบความคิดที่เป็นตรรกะนั้น จะเป็นผู้ที่มีศักยภาพในการใช้ความคิด มีระบบการจัดระเบียบความคิดที่ดี สามารถรับรู้ภาพรวมและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและตรงประเด็น มีความสามารถในการสื่อสารผ่านการเขียนและการพูดที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากความรู้ทางด้านเนื้อหาของกฎหมาย หรือความรู้ในเรื่องอื่นๆ แล้ว ระบบความคิดที่เป็นตรรกะนั้น ยังมีส่วนส่งเสริมและเป็นพื้นฐานของงานร่างกฎหมายอย่างสำคัญ กล่าวคือ การร่างกฎหมาย ต้องอาศัยความสามารถในการคิดและวางโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นกลไก (mechanism) ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการ การบังคับให้ผลทางกฎหมายเกิดขึ้นได้จริง (implementation) และการออกแบบระบบการควบคุมการใช้อำนาจได้อย่างมีดุลภาพและมีประสิทธิภาพ ซึ่งทักษะเหล่านี้จะต้องอาศัยความสามารถในการคิดวางแผน การแก้ไขปัญหา การลำดับกระบวนการก่อนหลัง การกำหนดกลไกความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีเหตุมีผล ความสามารถดังกล่าวจะทำให้ร่างกฎหมายนั้นเป็นกฎหมายที่ดี สามารถบังคับใช้ให้เกิดผลตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ลดการบิดเบือนการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเหล่านี้ก็ต่างเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของสำนักงานฯ ทั้งสิ้น

ปัญหาการเรียนรู้หรือปัญหาในการทำงานของผู้เขียนเองตรงกับปัญหาของการทำงานของเจ้าหน้าที่หลายคน ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ได้มาจากการสัมมนาระดมความคิดเห็นในเรื่องการจัดการความรู้ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาของกลุ่ม KM Young Elite ณ ทับทิมรีสอร์ท อ. บ้านเพ จ. ระยอง ระหว่างวันที่ 4 – 7 กันยายน พ.ศ. 2552 ซึ่งได้มีการสะท้อนปัญหาสำคัญหลายประการของการทำงานของบุคลากรของสำนักงานฯ เช่น

- ความไม่รู้ว่า “ข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่ง” มีอยู่หรือไม่ ถ้ามี ข้อมูลเหล่านั้นอยู่ที่ใด

- ระบบข้อมูลสารสนเทศของสำนักงานฯ มีขนาดใหญ่ขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ค้นหาข้อมูลได้ลำบากมากขึ้น

- ปัญหาการใช้เวลาในการค้นข้อมูลมากเกินไป (ซึ่งก็เป็นผลมาจากปัญหาของการสืบค้น)

- ปัญหาข้อจำกัดของเครื่องมือในการค้นหา เป็นผลให้ได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน

- ปัญหาของการค้นข้อมูลแบบ “ทำซ้ำๆ” กับที่เจ้าหน้าที่คนอื่นทำไว้แล้ว

- ข้อมูลที่ได้มานั้นไม่เป็นปัจจุบัน ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของกระบวนการการทำงาน

“การค้นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน” หรือ “การค้นข้อมูลที่ล่าช้า” หรือ “การไม่มีตรรกะทางความคิด” นั้น ผู้เขียนเป็นว่าเป็นปัญหาโดยตรงและเป็นปัญหาที่สำคัญในระดับการปฏิบัติงานของผู้เขียน (หรืออาจรวมถึงเจ้าหน้าที่หลายคนในสำนักงานฯ ด้วย) ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของการจัดทำร่างกฎหมายและการให้ความเห็นทางกฎหมาย ซึ่งกระทบต่อเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของสำนักงานอย่างเลี่ยงไม่ได้

ผลการวิเคราะห์ของผู้เขียนในชั้นนี้สรุปได้ว่า “ความสามารถในการระบุข้อมูลที่จำเป็นต่อการร่างกฎหมายหรือให้ความเห็นทางกฎหมายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง” หรือ “ความสามารถในระบุตำแหน่งหรือแหล่งของข้อมูลที่ใช้ในการร่างกฎหมายหรือให้ความเห็นทางกฎหมาย” หรือ “ทักษะความคิดที่เป็นตรรกะ” นั้น เป็น “ความรู้” ที่จำเป็นและเป็นความรู้ที่สนับสนุนเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของสำนักงานฯ ที่สมควรนำกระบวนการจัดการความรู้เข้ามาบริหารจัดการเพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างความรู้และนำความรู้ดังกล่าวมาใช้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ อันจะส่งผลให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพของการร่างกฎหมายและการให้ความเห็นทางกฎหมาย และเป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรของสำนักงาน

อนึ่ง ผู้เขียนมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ความรู้ความสามารถทั้งสามลักษณะเป็นองค์ความรู้ที่เป็นผลให้เกิดความสามารถในการเรียนรู้ "ความรู้อื่นๆ" อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ความรู้ทั้งสามลักษณะไม่ใช่ความรู้ในทางเนื้อหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ หากสำนักงานฯ ต้องการให้การจัดการความรู้ของสำนักงานฯ เกิดสภาพที่ยั่งยืนและเป็นธรรมชาติแล้ว ควรกำหนดให้องค์ความรู้ทั้งสามเป็นเป้าหมายหลักของการจัดการความรู้ของสำนักงานฯ อย่างต่อเนื่องและเป็นระยะเวลานานพอสมควร และอาจเสริมเป้าหมายการ "ให้ความรู้" ว่าด้วยเนื้อหาความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะให้สอดคล้องกับความต้องการหรือสภาพการเปลี่ยนแปลงในบางช่วงบางเวลา จะเป็นสิ่งที่ทำให้การจัดการความรู้ของสำนักงานฯ ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

เป้าหมายและขอบเขตของการจัดการความรู้ของสำนักงานฯ ควรเป็นอย่างไร?



การใช้ประโยชน์หรือพลังของการมีส่วนร่วมหรือปฏิสัมพันธ์หว่างกันของเครือข่ายของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ โดยใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้ แบ่งปันความรู้ และนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน คนที่อยู่ในเครือข่ายเป็นทั้ง "ผู้ให้" และ "ผู้รับ" ความรู้ เป้าหมายของการจัดการความรู้ในช่วงแรกของการปรับปรุงกระบวนการจัดการความรู้คือ "การมีระบบเครือข่ายการแบ่งปันความรู้ระหว่างเจ้าหน้าทื่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา"

และจากผลการวิเคราะห์ถึง "ความรู้" ที่จำเป็นและสนับสนุนให้เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของสำนักงานฯ นั้น เป็นผลให้สามารถระบุความรู้ดังกล่าวได้ 3 องค์ความรู้ ได้แก่

1. ความสามารถในการระบุข้อมูลที่จำเป็นต่อการร่างกฎหมายหรือให้ความเห็นทางกฎหมายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง


2. ความสามารถในระบุตำแหน่งหรือแหล่งของข้อมูลที่ใช้ในการร่างกฎหมายหรือให้ความเห็นทางกฎหมาย และ


3. ทักษะระบบความคิดที่เป็นตรรกะ (Logical Thinking)


Bookmark and Share

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น